สะท้อนความจริงด้วยความจริงใจ จาก นายปราโมทย์ สรวมนาม
การทำประกันประโยชน์ของใคร ?
1. ประโยชน์ของผู้กู้ ครอบครัวของผู้กู้หรือทายาท
2. ประโยชน์ของผู้ค้ำประกัน ครอบครัวหรือทายาท
3. ประโยชน์ของสหกรณ์ คือประโยชน์ของสมาชิกโดยรวม
สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาญจนบุรี จำกัด แก้ปัญหาและพัฒนาการทำประกันอย่างไร ?
ปี พ.ศ. 2556 เกิดวิกฤตเรื่องการค้ำประกัน ในที่ประชุมใหญ่
ปี พ.ศ. 2557 แก้ปัญหาและพัฒนา
1. วิธีการจัดหาบริษัท
2. กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดกรมธรรม์
3. กำหนดวิธีการเก็บเบี้ยประกัน
สหกรณ์ประสบความสำเร็จ
1. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา อัตราเบี้ยประกันลดลงอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปี พ.ศ. 2561, 2562 อัตราค่าเบี้ยประกันอยู่ที่ 215/100,000 บาท และ FCL เพิ่มขึ้นเป็น 1,200,000 บาท
2. ครอบครัวผู้กู้ ทายาทผู้กู้ ผู้ค้ำประกัน และครอบครัวได้รับประโยชน์ ไม่ต้องรับภาระหนี้สิน ที่ผู้กู้ค้างชำระหรือชำระบ้างเล็กน้อย
3. สหกรณ์ไม่มีหนี้เสีย กรณีผู้กู้ถึงแก่ความตาย
4. ครอบครัวหรือทายาทผู้กู้บางรายได้รับเงินประกันส่วนที่เหลือจากการชำระหนี้
สิ่งที่ปรากฎกับวงการสหกรณ์
1. งบการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาญจนบุรี จำกัด แสดงให้เห็นถึงความมั่นคง อัตราการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ อยู่ในอัตราต่ำเมื่อเทียบกับเงินให้กู้
2. สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาญจนบุรี จำกัด หาเงินกู้ได้ง่าย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำทั้งจากธนาคารและสหกรณ์
- สหกรณ์อื่นนำเงินมาฝากไว้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาญจนบุรี จำกัด กว่า 1,000 ล้านบาท
- สหกรณ์สามารถขยายวงเงินกู้ และแก้ปัญหาความเดือดร้อนได้ดีขึ้น
ทำไมต้องหักเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืน
1. เงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนที่สหกรณ์หักไว้ ได้นำเข้าบัญชีเงินฝากของสมาชิกเป็นรายบุคคล ได้ดอกเบี้ยร้อยละ 3.75/ปี
2. การจ่ายเบี้ยประกัน รอบแรกสหกรณ์หักจากเงินกู้ได้
3. การต่อสัญญาประกันงวดต่อไป สหกรณ์จะต้องจ่ายตามเงื่อนไข ตามสัญญาทำประกัน ตามระยะเวลาการกู้ ของผู้กู้แต่ละคน หากไม่เก็บจากเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืน จะมีปัญหามาก
4. กรณีหักเงินไว้ไม่เพียงพอต้องเก็บเพิ่ม ซึ่งสมาชิกไม่ยอมนำมาชำระ (สหกรณ์ต้องแก้ปัญหาอย่างยุ่งยาก เพราะจะปล่อยให้สัญญาประกันขาดอายุไม่ได้)
5. สมาชิกผู้กู้ทราบดีว่าการกู้เงินที่สมาชิกเคยกู้มา และเป็นหนี้อยู่ขณะนี้ สหกรณ์เก็บเบี้ยประกันอย่างไร จำนวนเงินเท่าไร
6. การกู้เงินและการทำประกันเป็นของคู่กัน เพราะเป็นเรื่องของการลดความเสี่ยง
7. ใครกู้มากหลายสัญญาก็ต้องถูกเก็บค่าเบี้ยประกันมาก ถ้าอยากเสียเบี้ยประกันน้อยก็อย่ากู้มาก หรือถ้าไม่อยากถูกหักเงินไว้เป็นเบี้ยประกัน ก็อย่ากู้เกิน 90% ของค่าหุ้นของตนเอง
ข้อสังเกต
การดำเนินงานของสหกรณ์ คณะกรรมการทุกคนต้องมีความรู้ สมาชิกต้องมีความเข้าใจ วิจารณ์และแสดงความคิดเห็น ด้วยความรู้ อย่าวิจารณ์และแสดงความคิดเห็นด้วยความรู้สึก
ท่านเคยคิดบ้างไหม
กลุ่มสมาชิกที่เกษียณอายุราชการแล้วเป็นกลุ่มผู้ออม มีหนี้ได้ไม่เกินเงินค่าหุ้น + สวัสดิการ และส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี แต่กลุ่มสมาชิกที่อยู่ในวัยทำงาน ส่วนใหญ่มีหุ้นเฉลี่ยคนละประมาณ 3 – 4 แสนบาท แต่มีหนี้เฉลี่ยคนละ 2 – 4 ล้านบาท พอถึงเวลาย้ายไปต่างจังหวัดพาหนี้ติดตัวไปด้วยคนละเป็นล้าน ๆ สหกรณ์ไม่ติดตามก็ไม่ยอมชำระ ต้องติดตามฟ้องร้องเสียเงินค่าทนาย เงินวางศาล เรื่องเหล่านี้ตรวจสอบได้ที่สหกรณ์ คนพวกนี้สหกรณ์ต้องเคร่งครัดเรื่องการทำประกัน ถ้าไม่บริหารให้รอบคอบคนที่จะเสียหายมากที่สุดคือกลุ่มผู้เกษียณอายุ และกลุ่มผู้ฝากเงิน แต่น่าแปลกใจ พอกลุ่มผู้กู้ที่เอาเงินของกลุ่ม ผู้ออมไปพูดเรื่องการหักเงินปันผลและเฉลี่ยคืนไว้เป็นค่าประกันชีวิต หลายท่านกับท่านกับพูดว่า ไม่รู้ว่าสหกรณ์ทำกันอย่างไร เดี๋ยวนี้แปลกทำไมถึงต้องมาหักเบี้ยประกันจากเงินปันและเฉลี่ยคืน แสดงว่าท่านผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มผู้ออม ไม่รู้ใช่ไหมว่าการจัดให้มีการทำประกันชีวิต เป็นส่วนหนึ่งในการคุ้มครองเงินของท่านให้อยู่ด้วยความมั่นคง และให้ดอกผลที่ดีตลอดไป หรือจะปล่อยให้ค่อยๆ หายไปปีละล้าน สองล้าน หรือหลายๆ ล้าน จนทำให้เงินปันผลและเฉลี่ยคืน และสวัสดิการต่าง ๆ ลดลง มูลค่าหุ้นของท่านหุ้นละ 10 บาท อาจลดลง เหลือไม่ถึง 10 บาท จนในที่สุดก็ล่มสลายสูญหายไป สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต้องคิดและไตร่ตรองให้รอบคอบ สหกรณ์ของเราเจริญมาถึงจุดสูงสุด ในขณะนี้ดูได้จากสหกรณ์จ่ายเงินปันผลได้ เท่ากับดอกเบี้ยเงินกู้ ฉะนั้นคนกู้หุ้นตัวเองเท่ากับไม่ต้องเสียดอกเบี้ย พอรับเงินเฉลี่ยคืนอีก 12.5% ก็เท่ากับสหกรณ์แถมเงินให้อีก 75 สตางค์
ทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติเหมือนภาวะเศรษฐกิจของโลกและของประเทศ เมื่อเฟื่องฟูแล้ว ก็จะต้องค่อยดับลง เหมือนเทียนที่เผาไหม้ตัวเองจนหมดแท่งแล้วดับลง สหกรณ์ออมทรัพย์ ครูกาญจนบุรี จำกัด น่าจะถึงเวลาที่จะต้องเริ่มถดถอยลง จึงเริ่มมีปรากฎการณ์แปลก ๆ เกิดขึ้น ถ้ากรรมการและสมาชิกไม่ดูข้อมูลและรู้เท่าทันความจริง ไม่ตัดสินใจในการบริหารสหกรณ์ด้วยความรู้ ความเข้าใจ ตัดสินใจด้วยความรู้สึก หวังประโยชน์ส่วนตัว หวังได้คะแนนนิยมให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงเป็นสำคัญเป็นกรรมการเพื่อหาประโยชน์ หรือจะเป็นกรรมการเพื่อความมั่นคงของสหกรณ์ และประโยชน์ของสมาชิกโดยส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่ใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่ใดมีเงินมากที่นั้นย่อมมีผลประโยชน์มากตามไปด้วย ในขณะที่มีคนได้ประโยชน์ แต่สหกรณ์จะค่อยเดินไปสู่ความล่มสลาย กรรมย่อมกลับไปสนองกับผู้กระทำการอันไม่สุจริตอย่างแน่นอน
10 ธันวาคม 2562